วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555




           ในภาวะที่ฝนตกหนักจนทำให้เกิดน้ำท่วมขังในหลาย ๆ พื้นที่ของประเทศไทยนั้น "น้ำท่วม" ที่เต็มไปด้วยเชื้อโรค และสิ่งปฏิกูลมากมาย นอกจากจะนำมาซึ่งโรคตาแดง น้ำกัดเท้า ฮ่องกงฟุต อหิวาตกโรค อุจจาระร่วง ฯลฯ แล้ว อีกหนึ่งโรคที่ร้ายแรงไม่แพ้กันก็คือ "โรคฉี่หนู" นั่นเอง ซึ่งหากใครอยู่มีความจำเป็นต้องเดินลุยเท้า หรืออยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ต้องมาทำความรู้จัก "โรคฉี่หนู" เพื่อป้องกันอย่างเคร่งครัด เพราะโรคนี้มักระบาดในช่วงน้ำท่วม และยังเป็นโรคที่ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ด้วย

           โรคฉี่หนู หรือ ไข้ฉี่หนู หรือโรคเล็ปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) เป็นโรคระบาดในคน พบได้บ่อยในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ซึ่งเป็นฤดูฝน สาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย เลปโตสไปรา (Leptospira sp.) ซึ่งเป็นเชื้อที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์พาหะ โดยส่วนใหญ่คือ หนู แต่ก็ยังรวมถึงสุกร โค กระบือ แพะ แกะ หรือสัตว์เลี้ยงใกล้ตัวอย่างแมว และสุนัขด้วย

การติดต่อของโรคฉี่หนู


           ปกติแล้ว โรคฉี่หนู จะติดต่อกันโดยการสัมผัส เช่น ปัสสาวะ เลือด เนื้อเยื่อของสัตว์ที่มีการติดเชื้อโดยตรง หรือสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค และจะติดต่อจากคนสู่คนได้น้อยมาก โดยเชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดย

           การกินอาหาร หรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป

           การหายใจเอาไอละอองของปัสสาวะ หรือ ของเหลวที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป

           ผ่านเข้าทางเยื่อเมือก เยื่อบุต่าง ๆ เช่น ตา และปาก

           ชอนไชเข้าทางผิวหนังตามรอยแผล และรอยขีดข่วน

           ชอนไชเข้าทางผิวหนังปกติที่เปียกชุ่มจากการแช่น้ำนาน ๆ เช่น ในสภาวะน้ำท่วม

           ทั้งนี้ ระยะฟักตัวของโรคฉี่หนูใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ แต่อาจนานได้ถึง 3 สัปดาห์ ซึ่งอาการส่วนใหญ่จะหายไปภายใน 1 สัปดาห์แรก และหลังจากนั้นอีก 1-3 วัน จะเข้าสู่ระยะที่สอง คือ ระยะมีเชื้อในปัสสาวะ

กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคฉี่หนู

           ผู้ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง

           ผู้ที่อยู่ในบ้านที่มีหนูมาก

           เกษตรกร ชาวนา ชาวสวน

           คนทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ปศุสัตว์ ประมง

           สัตวแพทย์ แพทย์ เจ้าหน้าที่ในห้องทดลอง

           คนงานในเหมืองแร่ โรงฆ่าสัตว์

           ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ตามป่าเขา

           กลุ่มผู้เล่นกิจกรรมทางน้ำ เช่น การว่ายน้ำ การเล่นเรือแคนู วินด์เซิร์ฟ สกีน้ำ ไตรกีฬา ฯลฯ

อาการของ โรคฉี่หนู

อาการของผู้ติดเชื้อ โรคฉี่หนู มี 2 แบบ คือ

           1.แบบติดเชื้อไม่รุนแรง หรือ โรคเล็ปโตสไปโรซิสแบบไม่เหลือง (anicteric leptospirosis) คือกลุ่มที่ไม่มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ

           ระยะเชื้อเข้ากระแสเลือด (leptospiremic phase) จะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ รู้สึกหนาวสั่น ปวดศีรษะ บริเวณหน้าผาก หรือปวดหลังเบ้าตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยโรคฉี่หนูนี้จะต่างจากโรคอื่นตรงที่จะปวดบริเวณน่อง โคนขา หลัง และหน้าท้องด้วย นอกจากนี้อาจมีอาการเจ็บคอ ไอ เจ็บหน้าอก ผื่น สับสน ไอเป็นเลือด มีไข้

           อาการแสดงที่อาจตรวจพบ ได้แก่ มีเยื่อบุตาแดง ต่อมน้ำเหลืองโต คอแดง กดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อ ตับม้ามโต อาจพบอาการดีซ่านได้เล็กน้อย มีจ้ำเลือดตามผิวหนัง บางรายมีผื่นตามตัว ซึ่งอาการในระยะนี้จะหายไปได้เองภายใน 1 สัปดาห์ และจะไม่มีอาการอยู่ช่วงหนึ่งนาน 1-3 วัน ก่อนจะเข้าสู่ระยะที่สองคือ "ระยะมีเชื้อในปัสสาวะ"

           ระยะมีเชื้อในปัสสาวะ (leptospiruric phase) หรือระยะร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีอาการจำเพาะ และความรุนแรงน้อยกว่าระยะแรก ผู้ป่วยราวร้อยละ 15 จะมีอาการแสดงออกถึงภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบแบบไร้เชื้อ แต่ส่วนใหญ่จะพบในเด็ก และเป็นเพียงไม่กี่วัน หรือนานเป็นสัปดาห์ จากนั้นจะเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ม่านตาอักเสบ จอตาอักเสบ ซึ่งมักเป็นหลังอาการเริ่มแรกของโรคนานหลายเดือน และคงอยู่ได้นานเป็นปี

          2.แบบติดเชื้อรุนแรง (severe leptospirosis) หรือแบบที่มีอาการเหลือง

           โรคเล็ปโตสไปโรซิสรุนแรง หรือกลุ่มอาการเวล (Weil's Syndrome) พบในกลุ่มที่ได้รับเชื้อในซีโรวาร์ อิกเทอโรฮีมอราเจียอี/โคเปนเฮเกไน ซึ่งอาการเริ่มแรกจะไม่ต่างจากโรคฉี่หนูที่ไม่รุนแรง แต่ไม่มีลักษณะอาการที่แบ่งออกเป็นสองระยะชัดเจน โดยอาการรุนแรง หรืออาการเหลืองจะแสดงออกมาใน 4-9 วัน หลังจากเริ่มมีอาการ โดยกลุ่มคนไข้ที่ติดเชื้อรุนแรง มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ประมาณร้อยละ 5-15%

           ทั้งนี้ เชื้อต่าง ๆ จะเข้าไปอยู่ในบริเวณที่ร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกัน เช่น ลูกตา จะทำให้มีอาการตาอักเสบแดง น้ำตาไหล สู้แสงไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ คือ

           มีอาการเพ้อ ไม่รู้สึกตัว หากเชื้อเข้าไปอยู่ในสมอง

           หากเชื้ออยู่ในท่อไต จะทำให้ไตวายเฉียบพลันได้

           เกิดผื่น เช่น ลมพิษ ผื่นแดง

           กล้ามเนื้อที่น่องกดเจ็บอย่างรุนแรง

           มีอาการดีซ่าน คือ ผิวหนังจะมีสีเหลืองมาก ตับโต ประมาณ 20% ของผู้ติดเชื้อมีอาการม้ามโตร่วมด้วย

           มีอาการทางปอด คือ ไอ มีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย จนถึงระบบหายใจล้มเหลว

           มีความผิดปกติของระบบการแข็งตัวของเลือด ซึ่งอาการมีตั้งแต่แบบเล็กน้อย เช่น มีเลือดกำเดา จ้ำเลือดตามผิวหนัง ไปจนถึงอาการรุนแรง เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร เลือดออกในช่องเยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น

           อาการอื่น ๆ เช่น กล้ามเนื้อลายสลายตัว เม็ดเลือดแดงแตก เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับอ่อนอักเสบรุนแรง ภาวะการทำงานของอวัยวะล้มเหลวหลายระบบ เป็นต้น

การวินิจฉัยโรคฉี่หนู

           ผู้ป่วยที่มีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดกล้ามเนื้อ และเป็นกลุ่มเสี่ยง คือ อยู่ในบริเวณน้ำท่วมขัง เล่นน้ำ หรือย่ำน้ำในช่วงนี้ ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อให้ตรวจและวินิจฉัยอย่างถูกต้อง เนื่องจากผู้ป่วยโรคฉี่หนูส่วนใหญ่ที่เสียชีวิต มักจะไม่ได้รับการรักษาโรคฉี่หนูอย่างทันท่วงที เนื่องจากคิดว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา

การรักษา โรคฉี่หนู

           โรคฉี่หนู สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ซึ่งควรให้ยารักษาโดยเร็วที่สุด ไม่ควรเกิน 4 วันหลังจากมีอาการ และควรให้ยาติดต่อกันอย่างน้อย 7 วัน

การป้องกัน โรคฉี่หนู

การป้องกัน โรคฉี่หนู สามารถทำได้โดย

           1. กำจัดหนูในบริเวณสถานที่อยู่อาศัย

           2.หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคฉี่หนู รวมทั้งการสัมผัสปัสสาวะโค กระบือ หนู สุกร

           3.หลีกเลี่ยงการทำงานในน้ำ หรือต้องลุยน้ำ ลุยโคลนเป็นเวลานาน ๆ

           4.หลีกเลียงการว่ายน้ำที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่

           5.ไม่ใช้น้ำ จากแหล่งที่ต้องสงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อโรค

           6.หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่วางทิ้งไว้ค้างคืน โดยไม่มีภาชนะปกปิด

           7.เกษตรกร หรือคนทำงานปศุสัตว์ที่ต้องย่ำในน้ำ ควรสวมชุดป้องกัน เช่น รองเท้าบูท ถุงมือ ถุงเท้า เสื้อผ้า ให้เรียบร้อย

           8. ทำความสะอาดร่างกายโดยเร็ว หากเดินลงไปในแหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อ



7 คำถาม ตาต้อ (หมอชาวบ้าน)

คอลัมน์ รักษ์ "ดวงตา" โดย ผศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย

          "ตาต้อ" เป็นกลุ่มของโรคตา "ต้อ" ที่มีลักษณะแตกต่างกัน วันนี้มาทำความรู้จัก "ตาต้อ" ด้วย 7 คำถามต่อไปนี้กันดีกว่า

1.โรคต้อของตามีกี่โรค และมีความแตกต่างกันอย่างไร

          ตอบ คำว่าต้อเป็นคำทั่วไปหมายถึงตา ดังนั้น เมื่อบอกว่าเป็นโรคต้อ ต้องระบุให้ชัดเจนว่าเป็นโรคต้อชนิดใด ที่พบบ่อย ๆ และควรทราบ เรียงลำดับตามความรุนแรงจากน้อยไปมาก ดังนี้

          1) โรคต้อลม (Pinguecular)

          มีลักษณะเป็นเยื่อสีขาวหรือขาวเหลืองบริเวณตาขาวข้าง ๆ ตาดำ เกิดจากการถูกสิ่งระคายเคืองต่อเยื่อบุตา (เช่น ลม ฝุ่น แสงแดด) มาเป็นเวลานาน มักทำให้มีอาการเคืองตาง่าย ไม่ทำให้ตามัวหรือบอด

          2) โรคต้อเนื้อ (Pterygium)

          โรคต้อเนื้อเป็นโรคที่ต่อเนื่องมาจากโรคต้อลม แต่เยื่อบุตาลามเข้ามาถึงบริเวณกระจกตาดำ (cornea) เป็นลักษณะคล้ายเนื้อเยื่อสีขาวออกแดงบริเวณกระจกตาด้านหัวตาหรือหางตา เกิดจากการถูกสิ่งระคายเคืองมาเป็นเวลานานหลายปี ทำให้มีอาการเคืองตาและตาแดงบริเวณต้อเนื้อ เมื่อถูกสิ่งระคายเคือง ไม่ทำให้ตามัวหรือบอด

          3) โรคต้อกระจก (Cataract)

          โรคต้อกระจกเป็นโรคที่เกิดจากการขุ่นของเลนส์แก้วตา (lens) ในลูกตา ทำให้การมองเห็นภาพมีลักษณะคล้ายเป็นหมอกหรือควันขาว ๆ บัง มักเป็นจากการเสื่อมสภาพของเลนส์ตาตามอายุ แต่อาจเป็นตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดหลังอุบัติเหตุต่อดวงตาก็ได้ มักทำให้ตามัวมากขึ้นเรื่อยจนอาจมองไม่เห็นในที่สุดถ้าไม่ได้รับการรักษา

          4) โรคต้อหิน (Glaucoma)

          ต้อหินเป็นโรคที่มีความดันในลูกตาสูงจากการระบายออกของน้ำเลี้ยงในลูกตา (aqueous) น้อยผิดปกติ ทำให้ลูกตาแข็งขึ้น จนกระทั่งกดขั้วประสาทตา (optic disc) ทำให้มีการเสียของลานสายตาการมองเห็น จนกระทั่งตาบอดสนิทได้ในที่สุด

          ส่วนโรคต้ออื่น ๆ ที่เป็นภาษาเฉพาะถิ่น เช่น ต้อลิ้นหมา คือต้อเนื้อ หรือโรคต้อลำไย คือต้อหินแต่กำเนิด เป็นต้น

2.โรคต้อลม สาเหตุเกิดจากลม การใส่แว่นจะป้องกันโรคได้หรือไม่

          ตอบ สิ่งระคายเคืองที่เป็นสาเหตุของโรคต้อลม เป็นไปได้ทั้งจากลม ฝุ่น หรือแสงแดดจ้า ๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นสาเหตุของโรคต้อลมแล้ว ยังทำให้ผู้ที่เป็นต้อลมอยู่แล้ว มีอาการเคืองตามากขึ้น ซึ่งต้อลมจะลุกลามมากขึ้นเมื่อสัมผัสกับสิ่งระคายเคืองดังกล่าว แว่นตามักช่วยกันลมเฉพาะจากทางด้านหน้า จึงไม่เพียงพอต่อการป้องกันทั้งลม ฝุ่น และแสงแดด ดังนั้น คำแนะนำที่ดีที่สุดจึงควรให้ผู้ป่วยพยายามหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีลม ฝุ่น หรือแสงแดดจ้า ๆ จะเป็นประโยชน์มากกว่า

3.โรคต้อเนื้อ เกิดจากการกินเนื้อ และหลังลอกต้อเนื้อควรงดอาหารประเภทเนื้อสัตว์จริงหรือไม่

          ตอบ โรคต้อเนื้อ เกิดจากการเสื่อมสภาพของเยื่อบุตาบริเวณข้างตาดำ จากการสัมผัสสิ่งระคายเคือง เช่น ลม ฝุ่น แสงแดด แม้มีลักษณะคล้ายเป็นก้อนเนื้อ แต่ไม่ได้มีคามสัมพันธ์กับอาหารประเภทเนื้อ และการกินอาหารประเภทเนื้อหลังการลอกต้อเนื้อ ก็ไม่ทำให้แผลเกิดการอักเสบหรือเกิดต้อเนื้อขึ้นใหม่แต่อย่างใด

4.โรคต้อกระจกจำเป็นต้องเป็นทุกคนหรือไม่

          ตอบ โรคต้อกระจกเกิดจากการเสื่อมสภาพของเลนส์แก้วตา ทำให้เลนส์แก้วตาซึ่งควรมีลักษณะใส กลับมีสีขาวหรือขาวอมน้ำตาลมากขึ้น

          เมื่อมนุษย์ทุกคนมีอายุมากขึ้นจะต้องเกิดการเสื่อมของเลนส์ตาทุกคน เมื่อการขุ่นของเลนส์ตามากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดปัญหาตามัวจะเรียกว่าเป็นโรคต้อกระจก ดังนั้น มนุษย์ทุกคนจะต้องเป็นต้อกระจกแน่นอน แต่อาจเป็นตั้งแต่อายุมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละบุคคล

5.โรคต้อกระจกสามารถใช้ยาหยอดรักษาให้หายได้หรือไม่


          ตอบ ปัจจุบันยังไม่มียาหยอดตา หรือยากินที่สามารถให้การรักษาโรคต้อกระจกให้หายขาดได้ การรักษาที่ได้ผลคือการผ่าตัด (หรืออาจเรียกว่าลอกต้อ) เอาเลนส์ตาธรรมชาติที่ขุ่นเป็นต้อกระจกออก และใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ โดยวิธีการเอาเลนส์ตาที่เป็นต้อกระจกออกอาจใช้วิธีดันออก หรือใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasound) สลายออกก็ได้ แต่ยังไม่มีการใช้แสงเลเซอร์ในการผ่าตัดโรคต้อกระจก

6.โรคต้อหิน ต้องรักษาโดยการผ่าตัดเสมอไปหรือไม่ และการผ่าตัดทำเพื่อวัตถุประสงค์ใด

          ตอบ โรคต้อหินมีหลายชนิด ดังนั้นการรักษาจึงมีหลากหลายวิธี เช่น การใช้ยาหยลอดตาลดความดันตา ยากินลดความดันตา การใช้แสงเลเซอร์ และการผ่าตัดโดยในกรณีที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ไม่ใช่การผ่าเอาหินหรือของแข็งใด ๆ ออกจากตา แต่เป็นการผ่าตัดเพื่อเปิดทางระบายน้ำเลี้ยงในลูกตา (aqueous) ออกจากลูกตา ทำให้ความดันตาลดลงและไม่เป็นอันตรายต่อขั้วประสาทตา

7.โรคต้อต่าง ๆ เป็นโรคกรรมพันธุ์หรือไม่

          ตอบ โรคต้อลมและต้อเนื้อ เป็นโรคที่เกิดจากการสัมผัสสิ่งระคายเคืองจึงไม่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม

          โรคต้อกระจกในผู้สูงอายุเกิดจากการเสื่อมของเลนส์แก้วตาตามสภาพ ไม่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่โรคต้อกระจกที่เกิดในเด็ก หรือเป็นแต่กำเนิดในบางรายอาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

          ส่วนโรคต้อหินอาจเป็นได้ทั้งเป็นและไม่เป็นโรคพันธุกรรม แต่ในผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคต้อหิน เมื่ออายุเกิน 40 ปี ควรได้รับการตรวจวัดความดันตากับจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเฝ้าระวังโรคต้อหินที่อาจเกิดขึ้นได้